วันที่ 7 ตุลาคม 2557 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมกับกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล
และองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) จัดการประชุมระดับภูมิภาค เรื่อง
การประเมินชั้นน้ำบาดาลข้ามพรมแดนในเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และเอเชียกลาง (Regional Meeting :
Assessment of Transboundary Aquifers of East, Southeast, South and Central Asia) ระหว่างวันที่ 7-9 ตุลาคม
2557 ณ ห้องกมลมาศ ชั้น 6 โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพมหานคร

นายสัมฤทธิ์ ชุษณะทัศน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำบาดาล นายสุนทร ปัญจาสุธารส ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และฟื้นฟู
ทรัพยากรน้ำบาดาล พร้อมด้วย นายกวาง โจ คิม ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ รองเลขาธิการ
คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ และนายอนันดา ดิแอส ผู้ประสานงานระดับ
ภูมิภาคด้านการประเมินการเตือนภัยล่วงหน้า โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ
ระดับภูมิภาค ซึ่งการประชุมระดับภูมิภาคฯ ครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามมติรับรองร่างกฎหมายชั้นน้ำบาดาลข้ามพรมแดน (Law of
Transboundary Aquifers) ของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อเดือนธันวาคม 2551 ที่ต้องการส่งเสริมให้แต่ละรัฐ
มีการเตรียมการบริหารจัดการชั้นน้ำบาดาลข้ามพรมแดน ทั้งในระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค ทั้งนี้ กองทุนสิ่งแวดล้อม (Global
Environmental Facility : GEF) และโครงการอุทกธรณีวิทยาระหว่างประเทศของยูเนสโก (UNESCO-IHP) ได้ร่วมกันจัดทำ
โครงการประเมินทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดน (Transboundary Waters Assessment Programme: TWAP) ขึ้น

โดยการประชุมระดับภูมิภาค เรื่อง การประเมินชั้นน้ำบาดาลข้ามพรมแดนในเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้
และเอเชียกลาง เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งภายใต้โครงการ TWAP มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยน องค์ความรู้ และข้อมูลทางวิชาการ
ด้านการบริหารจัดการและประเมินชั้นน้ำบาดาลข้ามพรมแดน ระหว่างผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ และผู้เชี่ยวชาญ
ด้านทรัพยากรน้ำบาดาลจากประเทศ ในเอเชียและที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้องจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย
ตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และเอเชียกลาง กว่า 90 คน เข้าร่วมประชุม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลคาดหวังว่า
ผลจากการประชุมดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างกลุ่มเครือข่ายบริหารจัดการชั้นน้ำบาดาลข้ามพรมแดนอย่างเป็นระบบและยั่งยืนในภูมิภาค
เอเชีย และประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการชั้นน้ำบาดาลข้ามพรมแดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเป็นอย่างดี โดย นายสัมฤทธิ์ ชุษณะทัศน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากร
น้ำบาดาล และ ดร.อรัญญา เฟื่องสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน
เกี่ยวกับการจัดการประชุมและข้อมูลเกี่ยวกับการบรรยายด้านทรัพยากร น้ำบาดาลในครั้งนี้อีกด้วย

Image: